วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

ดนตรีกับพัฒนาการเด็กปฐมวัย
ดนตรี เป็นสื่อภาษาสากล มีอิทธิพลต่อความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ ดนตรีเหมาะสม กับการนำมาใช้เพื่อการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพราะนอกจากการสร้างเสริมพัฒนาการในทุกด้านแล้วยังสามารถปลูกฝังนิสัยที่ดีงาม และประสมประสานวิชาการด้านต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กปฐมวัยได้ ช่วงแห่งปฐมวัยนี้ เด็กจำเป็นจะต้องได้รับการส่งเสริม สนับสนุน ปลูกฝัง หล่อหลอมพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เจตคติ คุณธรรม ศีลธรรม ประสบการณ์ ทักษะด้านต่าง ๆ ตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ดี ในช่วงนี้เด็กจะมีพัฒนาการทุกด้านอย่างรวดเร็ มีความใสบริสุทธิ์เสมือน ผ้าขาวที่กำลังรอรับการบรรจงแต่งแต้ม สีสันต่าง อีกทั้งยังต้องการเรียนรู้สิ่งแปลงใหม่อยู่เสมอ ประการสำคัญในสองปีแรกของชีวิต เซลล์สมองและระบบประสาทจะเจริญเกือบเต็มี่ และการเจริญเติบ โตของสมองในช่วงต่อไปยังคงมีอยู่ในลักษณะของการเปลี่ยนแปลงรูปให้เหมาะสมกับหน้าที่และการสร้างวงจรประสาท ดังนั้นหากเด็กไม่ได้รับการเอาใจใส่ที่ดีขาดสิ่งเร้าที่เหมาะสมก็จะขาดสิ่งที่จะไปกระตุ้นให้ระบบประสาทที่กำลังเติบโตทำงานได้อย่างสมบูรณ์ วัย 6 ปีแรกของชีวิตนั้น มีความสำคัญในการพัฒนายิ่งกว่าวัยอื่น ๆ ทั้งหมด และถ้าเด็กปฐมวัยไม่ได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้อง ความสามารถในการเรียนรู้ก็จะถูกยับยั้งให้ล่าช้าหรือชะงักงันได้
สิ่งที่จะเป็นสื่อเป็นสิ่งเร้าและแนวทางในการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ของเด็กปฐมวัยมีมากมายหลายอย่าง หลายวิธีการ วัสดุ อุปกรณ์ เทคโนโลยี ทั้งมีความหมายเหมือนและความแตกต่างกัน ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีการศึกษาค้นคว้า วิเคราะห์ วิจัย สารัตถะที่จะนำมาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาเด็กในระดับปฐมวัยทั้งในและต่างประเทศ หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ
“ เพลงหรือคนตรี ” อันเป็นสิ่งที่นักวิชาการ นักศึกษา ท่านผู้รู้ ปราชญ์ ร่วมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ต่างเห็นคุณค่าความสำคัญ สารัตถุประโยชน์แห่งศาสตร์ทางดนตรี ในการที่จะนำดนตรีมาเป็นสิ่งแห่งการพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ
“ ดนตรี ” นับเป็นสิ่งแวดล้อมทางสังคมอย่างหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก แล้วยังมีนักการศึกษาให้ทรรศนะ โลกของเด็กเป็นโลกดนตรีไม่ว่าเริ่มตั้งแต่เสียงเต้นของหัวใจแม่ เสียงเพลงที่แม่กล่อม การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุและชมภาพยนตร์ มักจะมีเสียงดนตรีอยู่เสมอ ประสบการณ์ทางดนตรีจึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการชีวิตของเด็กที่ทางโรงเรียนควรจัดให้มีขึ้น เพราะคุณค่ ของดนตรีจะช่วยให้ ้เด็กมี พัฒนา การที่ดีงาม ในระดับปฐมวัยนี้ เสียงดนตรีมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งใน อันที่จะวางรากฐานใน การพัฒนา ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อหรือการแสดงออก ทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสังคม เนื่องจากดนตรีเป็นเรื่องของโสตศิลป์ ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึก อันจะนำเด็กไปสู่การรับรู้ในเรื่องของความงาม อย่างมีสุนทรีย์ ช่วยให้เด็กเป็นคนละเอียดอ่อนไวต่อการรับรู้ มีเหตุผล และมีความจำเป็นที่จะให้ความเจริญเติบโตของเด็กมีความสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยดนตรีเป็นสื่อกลางของเด็กในการพัฒนา คุณค่าทางสมองด้านความต้องการและความพอใจต่อสุนทรีย์ ดนตรีมีคุณค่าต่อการจัดระเบียบความ เจริญของสมองและ เป็นปัจจัยสำคัญ ที่กล่าวอีกว่า ดนตรีสามารถดึงดูดความสนใจ ของเด็กช่วยทำให้จิตใจแช่มชื่นและเกิดการผ่อนคลาย
ดังนั้น การได้อยู่ในสภาพแวดล้อมและบรรยากาศที่ดี จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะถ้าหากมีเสียงดนตรีตลอดเบา ๆ ซึ่งทำให้เด็กมีจิตใจที่สดชื่นแจ่งใสและผ่อนคลายความตึงเครียดได้ อีกทั้งยังช่วยให้สมองปลอดโปร่ง มีสมาธิที่จะคิดทำสิ่งใดให้ได้ผลดี
นอกจากนี้ดนตรียังเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มหรือทำให้บรรยากาศในระหว่างการดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น ช่วยให้เด็กเกิดความสนใจและอยากร่วมทำกิจกรรมยาวนาน และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น มนุษย์นิยมใช้ดนตรีช่วยผ่อนคลายมากกว่าอย่างอื่น เพราะไม่เป็นอันตรายหรือข้อจำกัดห้ามไม่ว่าบุคคลนั้นจะอยู่ในวัยใด เพศใด หรือฐานะสภาพทางสังคม วัฒนธรรม ประเพณี ต่างกัน
คุณค่าดนตรีต่อพัฒนาการเด็กปฐมวัย
ผลจากคุณค่าของเสียงดนตรีที่มีต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจของเด็ก นักจิตวิทยาสังคมต่างให้การยอมรับและได้กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีไว้ว่า
1. ดนตรีก่อให้เกิดความสว่างแก่จิตใจ ( Enlightenment) 2. ดนตรีก่อให้เกิดความสุข ( Well - Being) 3. ดนตรีก่อให้เกิดความผูกพันรักใคร่ ( Affection)
ดนตรีเป็นศาสตร์ หรือวิชาที่ทำให้เด็กระดับปฐมวัยได้รับการพัฒนาทุก ๆ ด้านของการเจริญเติบโต ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจำ สังคม ค่านิยม การคิดหาเหตุผล การสร้างสรรค์ การพัฒนากล้ามเนื้อ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การพัฒนาตนเองให้เข้ากับกลุ่ม หรือสภาพแวดล้อมของสังคมต่าง ๆ ดนตรีจึงน่าจะเป็นวิชาเดียวเท่านั้นที่ทำให้เด็กสนุกสนานรื่นเริงอย่างเต็มที่ ทั้งการแสดงออกทางร่างกาย ความคิด ตลอดจนพัฒนาการทางจิตใจ อารมณ์ และนอกจากนี้ ดนตรีนอกจากนี้ ดนตรียังสามารถนำไปสัมพันธ์ เชื่อมโยงหรือบูรณาการ กับวิชาการ องค์ความรู้ และกิจกรรมต่าง ๆ แก่เด็กปฐมวัยอย่างสำคัญทีเดียว ประการสำคัญดนตรีเป็นตัวจักรสำคัญที่ใช้ในการเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัย ดังนี้
ดนตรีช่วยเสริมสร้างพัฒนาด้านสุขภาพและพลานามัยของเด็กปฐมวัย
การเล่นเครื่องดนตรีหรือการร้องเพลงของเด็กนั้น น่าจะไม่เพียงแต่นั่งร้องหรือขับร้องเท่านั้น แต่เด็กทุกคนชอบ และพอใจที่จะทำท่าทางประกอบไปด้วย เนื่องจากเด็กในระดับปฐมวัยชอบเปลี่ยนอิริยาบทชอบการเคลื่อนไหว กระโดดโลดเต้นไปตามจังหวะท่วงทำนองของเพลง ดังนั้น เพลงและดนตรีจึงสามารถใช้เป็นสิ่งเร้าเพื่อพัฒนาการเคลื่อน ไหว ทั้งการเคลื่อนไหวแบบอยู่กับที่ การเคลื่อนไหวแบบเคลื่อนที่ การเคลื่อนไหวเพื่อดนตรี การเคลื่อนไหวเพื่อนาฎศิลป์ หรือการเต้นรำ รวมทั้งพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก ขน ขา ลำตัว นิ้วมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายตามจังหวะ ดนตรี จะเป็นการช่วยพัฒนาให้เด็กมีร่างกายแข็งแรงและพลานามัยที่สมบูรณ์ อันจะเป็นผลเกี่ยวโยงไปสู่จุดมุ่งหมายทาง การศึกษาที่มุ่งให้เด็กพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะด้านอื่น ๆ ซึ่งจะช่วย ให้เด็กปฐมวัยปรับตัวเข้ากับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข
ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ - จิตใจของเด็กปฐมวัย
เพลงและดนตรีช่วยพัฒนาอารมณ์ของเด็กในแง่การให้ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน สดชื่น ร่าเริง บางครั้งเด็กปฐมวัยจะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง อาจทำให้เด็กเกิดความขัดแย้งหรือสับสน จึงทำให้เด็กมีปัญหาในด้านอารมณ์และจิตใจดนตรีจะสามารถช่วยบรรเทาหรือปรับอารมณ์เด็กได้อย่างดี ดนตรีสามารถช่วยให้เด็กได้แสดงออกตามความต้องการความรู้สึกและความสามารถ ช่วยถ่ายทอดอารมณ์และความรู้สึกของเด็ก ช่วยให้เด็กผ่อนคลายความเครียด ดังจะเห็นได้จากการ สังเกตเวลาเด็กร้องเพลงเล่นกัน เด็กจะมีหน้าตายิ้มแย้ม เบิกบาน แม้เด็กบางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิด แต่เมื่อได้ร้องรำทำเพลงหรือได้ฟังเพลงสักครู่ก็จะค่อยคลายความไม่สบายใจลง เพราะความไพเราะของเพลง ลีลาและท่วงทำนองเพลงจะช่วยกล่อมอารมณ์ของเด็กให้เพลิดเพลินเป็นปกติได้อย่างดี นอกจากนี้แล้ว ดนตรียังพัฒนาอารมณ์ของเด็ก เกิดความบันเทิงใจ เพลิดเพลิน เกิดจินตนาการกว้างไกล อารมณ์เยือกเย็น สุขุม รักสวยรักงาม เห็นคุณค่าของดนตรี รักในเสียงเพลง เสียงดนตรี จากการสัมผัสดนตรีอยู่ในโลกของดนตรี ไม่เกิดความเหงา เห็นเสียงเพลงเสียงดนตรีเป็นเพื่อน เด็กจะเกิดความนุ่มนวลอ่อนโยนขึ้น ไม่แข็งกระด้าง ไม่เห็นแก่ตัว มีอารมณ์สุนทรีย์ละเอียดอ่อน การพัฒนาทางอารมณ์ของเด็กจะได้รับการกล่อมเกลาไปทีละเล็กละน้อย จนมีการแสดงออกทางอารมณ์ที่เหมาะสม อันเป็นผลพวงจากดนตรีนั่นเอง
ดนตรีช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสังคมของเด็กปฐมวัย
เป็นที่ทราบกันดีว่า เด็กปฐมวัยเป็นเด็กที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentric) เด็กจะสนใจตนเองมากกว่า ทำให้เด็กไม่ค่อยคิดถึงผู้อื่น สิ่งที่ควรแก้ไขให้รู้จักเอาใจผู้อื่น แบ่งปันสิ่งของ ร่วมเล่นกับเพื่อน รู้จักช่วยเพื่อน ๆ รู้จักใช้ถ้อยคำและกริยาอย่างเหมาะสม รู้จักรักและชื่นชมและให้อภัยต่อกัน ซึ่งสิ่งดังกล่าวสามารถใช้ดนตรีเป็นสื่อ เพราะดนตรีมีส่วนช่วยโน้มน้าวให้เด็กอยากเรียน อยากเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อน โดยที่ไม่ต้องมีการบังคับแต่ประการใด วิธีหนึ่งที่จะให้เด็กได้พัฒนาด้านสังคม คือ ให้เด็กได้ร่วมร้องเพลงหรือทำกิจกรรมทางดนตรี แสดงบทบาทตามดนตรี จนกระทั่งเด็กเกิดความซาบซึ้งและเห็นคุณค่า เด็กจะพยายามเลียนแบบ ทั้งนี้ ครูและผู้เกี่ยวข้องต้องคอยย้ำและเตือนอยู่เสมอ จนกระทั่งเด็กได้พัฒนาพฤติกรรมทางสังคม เด็กที่ได้รับการพัฒนาทางด้านสังคมโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ ผู้เขียนคิดว่า เด็กจะเรียนรู้ถึงความเป็นไปของสังคมใกล้ตัวและสังคมรอบข้าง เด็กจะเป็นที่รักของสมาชิกและสังคม อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข สามารถปรับ ตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้ รู้จักพูดจา แสดงท่าทางเหมาะแก่กาลเทศะ ทำงานและเล่นกับผู้อื่นได้ดี ยอมรับฟัง ความคิดเห็นของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากการใช้ดนตรีเป็นสื่อในการพัฒนาสังคมของเด็กปฐมวัยโดยแท้
นอกจากนี้ดนตรีทำให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านสังคม อันเป็นผลจากการที่เสียงดนตรีมีส่วนช่วยในการปรับสภาพอารมณ์ของเด็กให้เกิดความพึงพอใจ และความสุขสบาย ฉะนั้นการที่เด็กได้ฟังเสียงดนตรีที่มีความสนุกสนาน เพลิดเพลิน เด็กจะเกิดความรู้สึกอบอุ่น มีความไว้วางใจในสิ่งแวดล้อม มีความสุขในการเรียน การทำงาน และสามารถที่จะปรับตัวในลักษณะที่เหมาะสมเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น จะสังเกตได้จากพฤติกรรมการแสดงออก ซึ่งเด็กจะมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากขึ้น มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดี มีความสามัคคีร่วมมือในการทำกิจกรรม ซึ่งส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้เป็น อย่างดียิ่ง
ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย
ดนตรีจะช่วยสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ และมโนคติกับเด็กในเรื่องต่าง ๆ เช่น ธรรมชาติศึกษา คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา สุขศึกษา ฯลฯ และเป็นการช่วยที่เด็กพอใจ เด็กเข้าใจและจดจำได้เอง โดยไม่ต้องมีการบังคับ เช่น นบทเพลงที่เกี่ยวกับลม ฝน แมลง นก ขณะที่เด็กร้องเพลงและทำท่าเคลื่อนไหวเลียนแบบสิ่งต่าง ๆ อาทิ ลีลาเลียนแบบท่าทางของสัตว์ ท่าทางของคน ลีลาเลียนแบบการเคลื่อนไหวของเครื่องยนต์กลไกและเครื่องเล่น ลีลา เลียนแบบปรากฎการณ์ธรรมชาติ หรือลีลาตามจินตนการ ซึ่งเด็กจะมีความเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านี้เพิ่มขึ้น หรือในขณะที่เด็กร้องเพลงนับกระต่าย นับลูกแมว นับนิ้ว เด็กก็จะได้รับความคิดในเรื่องการเพิ่ม - ลดของจำนวน การเรียงลำดับที่ ฯลฯ ซึ่งพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัยจะเจริญงอกงามโดยอาศัยกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะกิจกรรมทางดนตรีนับเป็นกิจกรรมที่มี ความสำคัญยิ่ง
ดนตรีเป็นสิ่งแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญและเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทางสติปัญญาของเด็กปฐมวัย เพราะดนตรีเป็นสิ่งเร่งที่จะช่วยจูงใจให้เด็กเกิดความสบายใจ และมีความรู้สึกในทางที่ดี ซึ่งเป็นการช่วยสร้างสิ่งแวดล้อมให้มีความน่าสนใจ ทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ อันส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาทางสติปัญญาเป็นอย่างดี
ประการสำคัญ ดนตรีจัดเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ต่อการพัฒนาทางสติปัญญา โดยเฉพาะด้านสมาธิ เนื่องจากดนตรีช่วยทำให้เด็กเกิดสมาธิในการทำกิจกรรมและสามารถทำงานได้นานขึ้น ทั้งนี้เพราะเสียงดนตรี นับเป็นสื่ออย่างหนึ่งที่จะช่วยปรับสภาพอารมณ์และช่วยกระตุ้นให้เด็กเกิดสมาธิ สามารถสร้างระเบียบและควบคุมตนเองให้เหมาะสมและไม่เกิดความเครียดจนต้องหยุดชะงักการทำงาน ในขณะที่เด็กทำกิจกรรมสร้าง สรรค์ กิจกรรมการเล่นตามมุม กิจกรรมกลางแจ้ง เมื่อมีดนตรีเปิดเบา ๆ เด็กจะมีความพึงพอใจในการทำกิจกรรมท่ามกลางบรรยากาศที่มีเสียงเพลง และมีความตั้งใจพยายามทำกิจกรรม อีกทั้งยังพบว่าระยะเวลาในการทำกิจกรรมแต่ละประเภทจะยาวนานขึ้น นอกจากนี้เสียงดนตรียิ่งทำให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ และมีจินตนาการในขณะทำกิจกรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยดังนี้
จากการทดลองของ เลิศ อานันทนะ ( 2518 : 219) พบว่า เสียงดนตรีสามรถเสริมสร้างความคิดจินตนาการ ช่วยกระตุ้นให้มีการแสดงออกในทางสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างประสาทหู กล้ามเนื้อมือ ให้สอดคล้องกับการใช้ความคิด
ฉะนั้น ดนตรีจึงเป็นสื่อกลางของเด็กปฐมวัยในการพัฒนาศักยภาพ คุณค่าทางสมองและสติปัญญา เพราะดนตรีเป็นเรื่องของโสตศิลป์ที่จะพาเด็กไปสู่การรับรู้และเรียนรู้เรื่องของศาสตร์วิทยาการ ต่าง ๆ ตลอดจนความงามอย่างมีสุนทรีย์ ในที่สุดเด็กก็มีการพัฒนาการทางสติปัญญาสูงขึ้น มีคุณภาพและประสิทธิภาพนั่นเอง
ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็กปฐมวัย
ดนตรีช่วยให้เด็กรู้จักฟังและแยกความแตกต่างของระดับเสียง สูง ต่ำ ดัง ค่อย หนัก เบา แหลม ทุ้ม รู้จักแยกอัตราจังหวะ ช้า ปานกลาง เร็ว ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการฟังคำพูดที่ประกอบไปด้วยเสียงหนัก - เบา และเสียงวรรณยุกต์ทางภาษาที่แตกต่างกัน ดนตรีจะช่วยพัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ อาทิ การเขียน การพูด การอ่านออกเสียงของเด็ก เพราะในขณะที่เด็กร้องเพลง เด็กจะต้องรู้จักควบคุมการหายใจ รู้จักควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูด รู้จักจังหวะ ของคำพูด รู้จักรูปประโยคที่ถูกต้อง และเด็กจะชอบเล่นกับคำพูด ซึ่งเป็นบทคล้องจองที่อยู่ในเพลงนั้น เนื่องจากเพลงทุกเพลงจะต้องมีเนื้อร้องที่สัมผัสกัน เช่น นกเอยนกน้อยน้อย เจ้าค่อยค่อยเคลื่อนคล้อยมา คำว่าน้อยสัมผัสกับค่อย ลักษณะของคำที่คล้องจองกันเช่นนี้ ทำให้เด็กสามารถจำเพลงได้ง่ายขึ้น สิ่งต่าง ๆ ดังที่ผู้เขียนกล่าวมาจะยังประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะด้านภาษาให้กับเด็กปฐมวัยได้เป็นอย่างดี
ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีของเด็กปฐมวัย
สิ่งที่พึงปรารถนาของทุกฝ่ายและทุกสังคม คือ การให้ลูกหลานมีลักษณะนิสัยที่ดีในการที่จะปลูกฝังและส่งเสริมพัฒนาลักษณะนิสัยที่ดีให้แก่เด็กปฐมวัยนั้น เราสามารถใช้เพลงหรือดนตรีช่วยได้เป็นอย่างมาก ถ้าเลือกเพลงได้เหมาะสม ในปัจจุบันนี้มีบทเพลงสำหรับเด็กมากมายซึ่งมีส่วนช่วยสร้างเสริมลักษณะนิสัยที่ดีให้กับเด็ก จากการทดลองจัดทำเพลงสำหรับเด็กปฐมวัย ว่าด้วยเพลงเกี่ยวกับกริยามารยาท การรักษาความสะอาด เพลงเกี่ยวกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ความเมตตากรุณาเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เพลงเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัย ความสามัคคี ฯลฯ ซึ่งได้นำมาใช้สอนนักเรียนระดับปฐมวัย ปรากฎว่านักเรียนสนุกสนาน ให้ความสนใจเป็นอย่างดี เด็ก ๆ ที่ชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรือเล่นของเล่นแล้วไม่เก็บเข้าที่ ก็จะใช้เพลง “ อย่าทิ้งต้องเก็บ ” มาร้องให้เด็กฟังและสอนให้เด็กร้องตาม ปรากฎว่าเด็ก ๆ ปฏิบัติตามเพลงเป็นอย่างดี
ดนตรีช่วยสร้างเสริมพัฒนาด้านระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียงแก่เด็กปฐมวัย
ดนตรีสามารถเป็นสื่อที่จะให้เด็กรักษาระเบียบวินัยและความพร้อมเพรียง โดยวิธีนี้เป็นสิ่งที่ทำได้โดยง่าย ซึ่งจะทำให้ครู - อาจารย์ ผู้เกี่ยวข้องไม่จำเป็นต้องเหน็ดเหนื่อย หรือ เคี่ยวเข็ญบังคับ เช่น การใช้สัญญาณที่เป็นเสียงเพลงหรือดนตรีกับเด็กว่า ถ้าได้ยินเสียงสัญญาณนี้ทุกคนจะต้องมาเข้าแถว สัญญาณเสียงนี้ทุกคนจะต้องหยุดเล่น สัญญาณนอน สัญญาณรับประทานอาหาร สัญญาณดื่มน้ำ ฯลฯ ซึ่งอาจใช้สัญญาณเสียงที่เป็นเสียงดนตรีง่าย ๆ เช่น นกหวีดเป่าเป็นจังหวะ เสียงกลอง เสียงกรับ เสียงฉิ่ง - ฉับ เสียงกระดิ่งสั่น เป็นจังหวะหรือเสียงเพลงใดเพลงหนึ่ง ซึ่งถ้าเด็กเข้าใจและเคยชินกับสัญญาณเสียงทางดนตรีเหล่านี้ เด็กจะปฏิบัติทุกอย่างได้ดีมีความพร้อมเพรียงกัน โดยที่ครูหรือผู้อ่านเองไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยกับการที่จะต้องคอยตะโกนบอกเด็กอยู่ทุกระยะ ฉะนั้นดนตรีจึงเป็นสื่อสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีส่วนช่วยพัฒนาระเบียบวินัย รวมถึงความพร้อมเพรียงของเด็กปฐมวัยไได้อีกทางหนึ่ง
ดนตรีช่วยในการปลูกฝังความรักชาติบ้านเมืองของเด็กปฐมวัย
การปลูกฝังให้เด็กเกิดความรักชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องแรกอยู่ในกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่จะเป็นสื่อที่ดีที่สุด คือ การใช้เพลงหรือดนตรี ทำนองและจังหวะต่าง ๆ เป็นเครื่องช่วยกระตุ้น ส่งเสริม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพลงที่มีจังหวะเร้าใจ คึกคัก สนุกสนาน มีความหมายที่เกี่ยวกับความรักชาติ ความเสียสละเพื่อชาติของวีรชนบรรพบุรุษ ตลอดจนตัวอย่างที่ดีงามของผู้เสียสละ จะเป็นการกระตุ้นให้เด็กเห็นคุณค่าและความสำคัญของประเทศชาติ เห็นความสำคัญของบรรพบุรุษที่ได้ช่วยกันป้องกันประเทศชาติ สิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวปลูกฝังแทรกซึมความรักชาติบ้านเมือง ความภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิดต่อไปในอนาคต โดยการใช้ดนตรีเป็นสื่อนำทางได้เป็นอย่างดี
ดนตรีช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาของเด็กปฐมวัย
เพลงและดนตรีจะช่วยลดพฤติกรรมที่เป็นปัญหาบางอย่างของเด็กปฐมวัย เช่น เด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ไม่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เด็กที่ขี้อาย มีความก้าวร้าว ฯลฯ เราสามารถนำกิจกรรมทางดนตรีเข้ามาช่วยปรับ หรือแก้ไขพฤติกรรมดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการนำกิจกรรมทางดนตรีมาสร้างสรรค์ บรรณาการ และประยุกต์ใช้เป็นสื่อในการพัฒนาการและช่วยแก้ไขข้อบกพร่องของเด็ก จากประสบการณ์ผู้เขียนคิดว่าเด็กในระดับปฐมวัยจะมีปัญหา ข้อบกพร่องและความพิการด้านต่าง ๆ แตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาข้อบกพร่องและความพิการทุกอย่างสามารถที่จะนำกิจกรรมทางดนตรีเข้าบำบัดแก้ไขได้อย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความสนใจต่ำ เด็กที่มีสมาธิสั้น เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด มีปัญหาเกี่ยวกับทักษะในการเคลื่อนไหว การปรับตัว ความคิดและจินตนาการ สายตา การอยู่ร่วมกัน การรักษาหรือลักษณะของต่าง ๆ ความซาบซึ้ง ความสามารถ ระดับความสมหวัง ประการที่สำคัญดนตรีสามารถนำไปใช้บำบัดการที่เด็กพิการ ทั้งด้านการพูด ตา หู ร่างกาย สมอง หรือแม้กระทั่งเด็กที่มีปัญหาหรือความบกพร่องทางอารมณ์ ซึ่งผู้ที่นำกิจกรรมทางดนตรีมาใช้เชื่อกันว่า อิทธิพลหรืออำนาจของเสียงพลงหรือดนตรีจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ คุณค่าและเกิดอารมณ์แก่เด็กในการที่จะแก้ปัญหาต่าง ๆ ในตัวเด็กได้
ประการสำคัญในการเรียนการสอนระดับปฐมวัย ดนตรีสามารถนำมาปรับพฤติกรรม หรือเสริมการเรียนรู้ของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ซึ่งนักวิชาการทางดนตรี เรียกกันว่าดนตรีบำบัด อันเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีประโยชน์มหาศาลต่อเด็กโดยการประยุกต์กิจกรรมทางดนตรีหรือเพลงที่เลือกสรรเป็นอย่างดีมาใช้กับเด็ก โดยมุ่งที่จะให้กิจกรรมทางดนตรีเป็นตัวช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเด็ก ช่วยแก้ไขความผิดปกติ ความบกพร่องของเด็กในระหว่างที่มารับการบำบัดหรือศึกษาฟื้นฟู พัฒนาสมรรถภาพ ซึ่งเด็กเหล่านี้อาจเป็นเด็กปัญญาเลิศ เด็กที่มีปัญหาทางการอ่าน เด็กปัญญาอ่อน เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ เด็กที่มีความบกพร่องด้านต่าง ๆ เด็กพิการ หรือเด็กพิเศษ ฯลฯ โดยการบำบัดด้วยดนตรีเป็นการเริ่มที่ตัวเด็กไม่ได้เริ่มจากดนตรี โดยการใช้เด็กเป็นศูนย์กลางของการบำบัด นักดนตรี นักดนตรีบำบัดจะวินิจฉัยปัญหาของเด็ก แล้วจึงวางแผนจัดกิจกรรมทางดนตรีให้สอดคล้องกับความต้องการ ความบกพร่องหรือปัญหาของเด็กแต่ละคนเป็นราย ๆ ไป การบำบัดด้วยดนตรีของเด็กพิเศษเหล่านี้ อาจทำเดี่ยวหรือเป็นกลุ่มก็ได้ ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เด็กมีพัฒนาการที่พึงประสงค์ สิ่งสำคัญของการบำบัดดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย จะเน้นการบำบัดดนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งจะเริ่มที่ปัญหาและสภาพข้อบกพร่อง ความต้องการพิเศษของเด็กแต่ละคนๆ การบำบัดด้วยดนตรีนี้มีจุดมุ่งหมายคล้ายกับการบำบัดรักษาด้วยวิธีการหรือเครื่องมืออื่นๆ โดยมุ่งที่จะใช้กิจกรรมทางดนตรีเป็นสื่อกระตุ้นหรือเร้าให้เด็กได้มีพัฒนาการ ประสบความสำเร็จในการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งยังส่งเสริมให้เด็กเกิดพฤติกรรมใหม่ อันเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ เป็นสิ่งปกติในชีวิตและวัยของเด็กแต่ละช่วงให้คงอยู่แลพัฒนาการต่อไป
ดนตรีเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย
วิธีการหรือสื่อหนึ่ง ที่จะมีส่วนทำให้เด็กในระดับปฐมวัยเกิดความสนใจ สนุกสนาน เห็นคุณค่าตั้งใจและติดตามการเรียนการสอนวิชาอื่น ๆ ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นสาระเนื้อหาตามแผนการจัดประสบการณ์ ทั้งกิจกรรมที่ปรากฎในตารางกิจกรรมประจำวันอันประกอบด้วย การเคลื่อนไหวและจังหวะกิจกรรมสร้างสรรค์ (ศิลปศึกษา) การเล่นตามมุม กิจกรรมในวงกลม การเล่นกลางแจ้ง เกมการศึกษา กิจกรรมที่ไม่ปรากฎในตารางกิจกรรมประจำวัน อาทิ การเล่านิทานการร้องเพลง การท่องคำคล้องจอง การจัดทัศนศึกษา การปฏิบัติการทดลอง การเตรียมเด็กให้สงบ ( การเก็บเด็ก) รวมทั้งแผนการจัดประสบการณ์ทั้ง 16 สัปดาห์ ในระดับปฐมวัยศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ( กระทรวงศึกษาธิการ. 2536 : 335 หน้า) ซึ่งเราสามารถนำกิจกรรมดนตรี เข้าแทรกหรือบูรณาการแผนการจัดประสบการณ์ดังกล่าวข้างต้นได้เป็นอย่างดี
การนำดนตรีมาใช้เป็นส่วนประกอบในกิจกรรมการเรียนการสอน บทประพันธ์เพลงที่มีความไพเราะ มีรูปแบบทำนองลีลาสมบูรณ์ จะให้ความซาบซึ้งและดำรงไว้ซึ่งคุณค่าทางอารมณ์ สามารถจินตนาการเป็นภาพที่มีความหมาย ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เด็กในแง่ที่จะพัฒนาจิตใจให้ละเอียดอ่อน ส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ เรื่องของการเรียนไม่ว่าจะเป็นการเรียนวิชาดนตรีหรือวิชาอื่น ๆ ก็ตาม การเรียนรู้ที่สมบูรณ์นั้น ควรจะมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันได้ในรายวิชาต่าง ๆ ปกติคนเราจะมีพื้นฐานดนตรีประทับในใจอยู่แล้วเป็นทุน จากสิ่งแวดล้อมหรือธรรมชาติ ดังนั้น จึงสามารถใช้ดนตรีเป็นสื่อเชื่อมโยงได้ โครงสร้างของวิชาดนตรีกับวิชาอื่น ๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกัน จะเป็นส่วนช่วยให้สามารถจัดระบบที่เหมาะสม
การนำกิจกรรมดนตรีมาใช้ประกอบการเรียนการสอนให้สัมพันธ์กับบทเรียนสำหรับเด็กปฐมวัยนั้น มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กเรียนด้วยความสนุกเพลิดเพลิน ไม่เบื่อหน่ายวิชาที่เรียน เพราะเป็นการได้รับความรู้จากบทเรียน คละเคล้าไปกับการเล่นโดยไม่รู้ตัว และจะช่วยส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความจำของเด็กได้ดีขึ้น กิจกรรมการเรียนการสอนที่ใช้ดนตรีอาจทำได้ดังนี้
1. ใช้ดนตรีเป็นเนื้อหาในการเรียนแล้วโยงไปหาวิชาอื่น ๆ เช่น ถ้าเพลงใดมีเนื่อหาที่บอกเรื่องราวต่าง ๆ สมบูรณ์ในตัว ก็นำเพลงนั้นมาให้เด็กร้องและอธิบายข้อความตามเนื้อเพลง แล้วจึงโยงไปถึงการเล่น การเล่าเรื่อง การเล่นนิทาน การฝึกทักษะด้านอื่น ๆ
2. ใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบให้สัมพันธ์กับบทเรียน คือ เรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วนำเพลงที่สัมพันธ์กับบทเรียนเข้ามาแทรก ซึ่งการแทรกนี้อาจทำได้หลายทาง เช่น ใช้ดนตรีเป็นการนำบทเรียน เพื่อที่จะเร้าให้เด็กเกิดความสนใจและกระตือรือร้นอยากที่จะเรียน ควรใช้เพลงที่เกี่ยวกับการให้เด็กคิดหรือให้ทาย เป็นต้นใช้ดนตรีแทรกตอนกลางบทเรียน บางครั้งบทเรียนที่ค่อนข้างยาวเกินไป อาจทำให้เด็กเบื่อและมีสมาธิสั้น อาจใช้เพลงแทรกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ และเพื่อให้ เด็กเรียนด้วยความสนุกสนานยิ่งขึ้น ซึ่งเพลงที่จะนำมาร้องแทรกตอนกลางของบทเรียนนี้ ควรเป็นเพลงที่เด็กร้องเป็นมาก่อน หรือเคยได้ฟังมาบ้างและเป็นเพลงที่ร้องง่าย ๆ ฉะนั้น ครูจะต้องเริ่มสอนร้องเพลงใหม่ ทำให้ความสนใจของเด็กมาอยู่ที่ดนตรีหมด โดยที่ยังสอนบทเรียนไม่จบ นอกจากนี้ การนำดนตรีมาแทรกในบทเรียนยังช่วยได้มากในกรณีที่ครูต้องการเน้นเนื้อหาให้เด็กเข้าใจ และเห็นความสำคัญยิ่งขึ้น
3. ใช้ดนตรีหรือเพลงร้องภายหลังบทเรียน ซึ่งเป็นการทบทวนบทเรียนไปด้วย เช่น เมื่อเด็กเรียนธรรมชาติศึกษาเรื่องสัตว์ต่าง ๆ ได้หัดฟังและเลียนแสียงร้องของสัตว์และชนิดของสัตว์ ซึ่งแตกต่างกันไปแล้ว เพื่อเป็นการทบทวนความจำให้แม่นยำยิ่งขึ้นว่าสัตว์ใดร้องอย่างใด ก็นำกิจกรรมทางดนตรีมาให้เด็กร้องหรือเล่นเป็นการสรุปบทเรียนได้อีกทางหนึ่ง
การนำกิจกรรมทางดนตรีมาประกอบการเรียนการสอนเพื่อเป็นสื่อสร้างเสริมพัฒนาการเรียนการสอนของเด็กปฐมวัย สามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยงรายวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษา สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปศึกษา ธรรมชาติ ฯลฯ การใช้ดนตรีเข้าช่วยจะทำให้เด็กเกิดความสุกสนาน สร้างเสริมคุณค่าและพัฒนาการทางอารมณ์ สามารถอำนวยประโยชน์ในกิจกรรมการเรียนการสอน และเป็นประโยชน์สำหรับเด็กปฐมวัยและผู้เกี่ยวข้อง
อยากมีงานทำครับ